น้ำยาหม้อน้ำ 101

คูลแลนท์ หรือ “น้ำยาหม้อน้ำ” ที่ทุกคนส่วนใหญ่เรียกกันติดปาก มีหน้าที่ในการป้องกันการแข็งตัว และการเดือด ของน้ำ ช่วยถ่ายเทความร้อน และป้องกันการกัดกร่อนได้ดี ทั้งในรถยนต์และอุตสาหกรรม แต่ในปัจจุบันเทคโนโลยีมีการพัฒนาไปอย่างรวดเร็วอยู่ตลอดเวลา และข้อกำหนดของผู้ผลิต (OEM) รวมถึงเรื่องของสี ทำให้น้ำยาหม้อน้ำกลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีความซับซ้อนอยู่พอตัว ด้วยความซับซ้อนของผลิตภัณฑ์จึงทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า “น้ำยาหม้อน้ำสีแดงกับสีเขียวมีความแตกต่างกันอย่างไร แล้วถ้าผสมน้ำยาสองสีนี้เข้าด้วยกันจะเกิดอะไรขึ้น และ เอธิลีนไกลคอล กับ โพรพิลีน ไกลคอล เป็นสารชนิดเดียวกันหรือไม่” ในบทความนี้เราจะพยายามตอบคำถามเหล่านี้และคำถามอื่นๆ โดยจะแตกเป็นคำถามย่อยๆ เพื่อให้ง่ายต่อการเข้าใจ 

น้ำยาหม้อน้ำคืออะไร

น้ำยาหม้อน้ำอาจทำจากของเหลวหรือสารชนิดอื่นๆ ขึ้นอยู่กับประเภทการใช้งาน เราจะพิจารณาน้ำยาหม้อน้ำที่ใช้ในเครื่องยนต์และในอุตสาหกรรมยานยนต์เนื่องจากเป็นสารที่เราสามารถพบเจอกันได้ทั่วไป หรืออย่างน้อยก็เป็นสารที่คนคุ้นเคยที่สุด รถยนต์หรือรถบรรทุกที่ใช้เครื่องยนต์ในการเผาไหม้ น้ำมันเบนซิน ดีเซล และแก๊สธรรมชาติ จำเป็นจะต้องใช้น้ำยาหม้อน้ำเป็นของเหลวที่ไหลเวียนอยู่รอบๆ เครื่องยนต์จะทำหน้าที่ในการถ่ายเทความร้อนที่เกิดจากการเผาไหม้ และระบายความร้อนออกไปยังหม้อน้ำ น้ำยาหม้อน้ำสำหรับรถยนต์ประกอบไปด้วยสารเคมีหลักๆ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำ ไกลคอล และสารเพิ่มคุณภาพหรือสารยับยั้งการกัดกร่อน

น้ำ มีราคาไม่สูง และเป็นตัวกลางในการถ่ายเทความร้อนที่มีประสิทธิภาพ แต่มีช่วงอุณหภูมิระหว่างจุดเยือกแข็งและจุดเดือดค่อนข้างจำกัด เนื่องจากรถในหลายๆ ประเทศ มีโอกาสที่จะอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า “จุดเยือกแข็ง” ในช่วงฤดูหนาว และอุณหภูมิในขณะที่เครื่องยนต์ทำงานอาจพุ่งขึ้นสูงกว่าจุดเดือดของน้ำ ความสามารถในการระบายความร้อนและป้องกันน้ำกลายเป็นน้ำแข็งจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก 

ไกลคอล (เอธิลีน หรือ โพรพิลีน ไกลคอล) ถูกเติมลงในน้ำเพื่อลดจุดเยือกแข็งและเพิ่มจุดเดือด เพื่อรักษาอุณหภูมิของเครื่องยนต์ในระหว่างการทำงาน เอธิลีนไกลคอล เป็นสารที่พบได้บ่อยเพราะมีคุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนได้ดีกว่า โพรพิลีน ไกลคอล ที่มีฤทธิ์น้อยกว่า การผสมไกลคอลทั้ง 2 ชนิด เข้ากับน้ำอาจส่งผลให้เกิดการอ่านค่าจุดเยือกแข็งที่ผิดพลาดบน รีแฟรกโทมิเตอร์ หรือ ไฮโดรมิเตอร์ได้ 

สีสันสร้างความสับสน
สีของน้ำยาหม้อน้ำอาจมีการใช้สีที่หลากหลาย เช่น สีแดง ส้ม เหลือง เขียว ม่วง ชมพู ฯลฯ เพื่อเป็นการแยกประเภทของน้ำยาหม้อน้ำ
แต่ไม่มีข้อกำหนดที่เป็นมาตรฐานของอุตสาหกรรมที่ผู้ผลิตจะต้องปฏิบัติตามในการทำตลาดของผลิตภัณฑ์ สีสันเหล่านี้เป็นเพียงสีที่เติมลงไปเพื่อช่วยแยกประเภทของน้ำยาหม้อน้ำ ไม่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพและประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์แต่อย่างใด สุดท้าย ก็จะเติมสารป้องกันการกัดกร่อน หรือสารเพิ่มคุณภาพต่างๆ ลงไปเพื่อช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการป้องกันการกัดกร่อนในหม้อน้ำ ปั๊มน้ำและส่วนประกอบอื่นๆ ภายในระบบหล่อเย็น

ประเภทของน้ำยาหม้อน้ำ
ตามที่ได้กล่าวไปข้างต้น ปัจจุบันตามท้องตลาดมีเทคโนโลยีมากมายที่นำมาใช้กับน้ำยาหม้อน้ำ ซึ่งมีความแตกต่างกันขึ้นอยู่กับปัจจัยต่างๆ เช่น การใช้งาน อายุของการใช้งาน ข้อกำหนดในการบำรุงรักษา โดยจะกล่าวเป็นภาพรวมดังต่อไปนี้ :

 

น้ำยาหม้อน้ำสูตรธรรมดา มีค่าซิลิเกตต่ำ – ที่นิยมเรียกกันว่า “น้ำยาหม้อน้ำสีเขียว” ผลิตภัณฑ์จะมีสีเรืองแสงเป็นสีเขียวมีส่วนผสมของไกลคอล หรือมีอีกชื่อหนึ่งว่า IAT (inorganic additive technology หรือ เทคโนโลยีสารเพิ่มคุณภาพอนินทรีย์) และมีส่วนผสมของซิลิเกตที่ใส่มาพร้อมกับสารยับยั้งการกัดกร่อนอื่นๆ น้ำยาหม้อน้ำสูตรธรรมดามีราคาไม่สูงและมีอายุการใช้งานประมาณ 50,000 ไมล์ และมักใช้ในเครื่องยนต์ขนาดเล็กซึ่งจำเป็นต้องใช้สารซิลิเกต น้ำยาหม้อน้ำประเภทนี้ช่วยยับยั้งการกัดกร่อนโดยจะสร้างชั้นเคลือบบนพื้นผิวโลหะในระบบหล่อเย็น แต่ชั้นที่เพิ่มเข้ามานี้ทำให้การระบายความร้อนไม่มีประสิทธิภาพ อายุการใช้งานของปั๊มน้ำสั้นลงเนื่องจากการก่อตัวที่เพิ่มขึ้นของตะกรัน   

น้ำยาหม้อน้ำ สูตรใหม่ – มีประสิทธิภาพคล้ายกับสูตรธรรมดาที่มีค่าซิลิเกตต่ำ แต่น้ำยาหม้อน้ำสูตรใหม่มีการเพิ่มสารเพิ่มคุณภาพ (SCA’s) เข้าไปเพื่อยืดอายุการใช้งานของน้ำยาหม้อน้ำ ออกแบบมาสำหรับปกป้องกระบอกสูบในเครื่องยนต์ที่ใช้งานหนัก จากปรากฏการณ์ที่เรียกว่าการเกิดโพรงไอ (cavitation) แรงดันสูงที่เกิดขึ้นรอบๆ บริเวณปลอกสูบเป็นเวลานาน จะทำให้เกิดกัดกร่อนจนกลายเป็นรูพรุนขนาดใหญ่ได้

เพื่อการป้องกันการเกิดโพรงไอ น้ำยาหม้อน้ำสูตรใหม่จึงต้องมีการเติมสารเพิ่มคุณภาพ SCA’s ตลอดอายุการใช้งานของน้ำยาหม้อน้ำ แต่อาจทำให้มีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเพิ่มขึ้นของปริมาณของแข็งที่เจือปนอยู่ในน้ำจะทำให้ใบพัดของปั๊มน้ำและซีลสึกหรอได้ น้ำยาหม้อน้ำสูตรนี้มักจะมีน้ำเป็น สีเขียว ชมพู หรือ ม่วง

น้ำยาหม้อน้ำ เอ็กซ์เทนเด็ดท์ ไลฟ์ คูลแล้นท์ (ELC) – เหมาะสำหรับเครื่องยนต์ที่รับงานหนัก น้ำยาหม้อน้ำ ELC ถูกคิดค้นขึ้นมาด้วยสารชนิดพิเศษเพื่อช่วยป้องกันการเกิดโพรงไอบนกระบอกสูบตลอดการใช้งาน สารเคมีเหล่านี้อาจมีส่วนผสมของไนไตรท์ - NOAT (เทคโนโลยีสารเพิ่มคุณภาพอินทรีย์ไนไตรท์) หรือปราศจากสารไนไตรท์ – OAT (เทคโนโลยีสารเพิ่มคุณภาพอินทรีย์) ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขของผู้ผลิต

น้ำยาหม้อน้ำสูตรนี้ไม่มีส่วนผสมของสารเพิ่มคุณภาพ (SCA’s) ที่ช่วยยืดอายุการใช้งาน แต่สามารถเติมเพิ่มเข้าไปได้เพื่อช่วยยืดการใช้งานได้นานขึ้น สาร NOAT ส่วนมากมีสีแดง ขณะที่สาร OAT มีสีที่ไม่แน่นอน ซึ่งต่างจากสีของน้ำยาหม้อน้ำสูตรธรรมดาและสูตรใหม่ น้ำยาหม้อน้ำ เอ็กซ์เทนเด็ดท์ ไลฟ์ คูลแล้นท์ ไม่มีส่วนผสมของสารเพิ่มคุณภาพที่เป็นของแข็งจึงทำให้อายุการใช้งานของปั๊มน้ำยาวนานขึ้น น้ำยาหม้อน้ำชนิดที่3 ของ ELC เรียกว่า HOAT (เทคโนโลยีสารเพิ่มคุณภาพอินทรีย์แบบไฮบริด) ที่มีส่วนผสมของสาร IAT และ OAT เช่นเดียวกับน้ำยาหม้อน้ำสูตรใหม่ น้ำยาชนิด HOAT จะต้องเติมสารเพิ่มคุณภาพ SCA’s เป็นระยะๆ    

การผสมน้ำยาหม้อน้ำ
มีความเข้าใจผิดหลายประการเกี่ยวกับผลลัพธ์ที่จะเกิดขึ้นเมื่อนำน้ำยาหม้อน้ำ 2 ชนิด มาผสมกันในระบบหล่อเย็นภายในเครื่องยนต์ โดยปกติแล้วน้ำยาหม้อน้ำแต่ละชนิดควรจะเข้ากันได้โดยไม่ส่งผลกระทบต่อระบบหล่อเย็น แต่การผสมน้ำยาหม้อน้ำคุณภาพสูงกับน้ำยาหม้อน้ำที่มีคุณภาพต่ำกว่า อาจทำให้น้ำยามีประสิทธิภาพลดลงและไม่สามารถปกป้องเครื่องยนต์ได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ หากจำเป็นจะต้องมีการเติม วิธีที่ดีที่สุดคุณควรเช็คความถูกต้องและความเหมาะสมของน้ำยาหม้อน้ำทุกครั้งก่อนการใช้งาน

บทสรุป
ในปัจจุบันคนส่วนมากนิยมการทำด้วยตัวเอง และให้ความสำคัญไปที่การเปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องและการบำรุงรักษาในส่วนอื่นๆ และการบำรุงรักษาน้ำยาหม้อน้ำจะได้รับความสำคัญรองลงมา หากได้รับการดูแลที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้เครื่องยนต์เกิดปัญหาได้ หากคุณมีข้อสงสัยใดๆ เกี่ยวกับน้ำยาหม้อน้ำชนิดไหนที่เหมาะกับยานพาหนะของคุณ หรือต้องการทราบว่าควรตรวจเช็คหรือเปลี่ยนถ่ายน้ำยาหม้อน้ำเมื่อใด วิธีที่ดีที่สุดคือการตรวจสอบกับคู่มือที่ผู้ผลิตแนะนำ (OEM) หรือติดต่อผู้ขายหรือช่างซ่อมบำรุงมืออาชีพ

 

Author image

โดยเดวิด แฮสช์ - 31 January 2019

เกี่ยวกับผู้เขียน

นับตั้งแต่ร่วมงานกับบริษัทในปี 2543 เดวิด แฮสช์ รับผิดชอบหน้าที่ต่างๆ ในเชฟรอนตั้งแต่ direct sales representative, supply chain production planner และ lubrication engineer ที่เชฟรอน ลูเบเทค ซึ่งเป็นศูนย์ช่วยเหลือด้านเทคนิคให้แก่ลูกค้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก ปัจจุบัน เดวิด ดำรงตำแหน่ง Marketing specialist เขาได้สร้างคอนเทนท์เกี่ยวกับข้อมูลทางเทคนิคเพื่อสร้างจุดเด่นให้ผลิตภัณฑ์และโซลูชั่นของบริษัทในส่วนตลาดธุรกิจเชิงพาณิชย์และภาคอุตสาหกรรมทั้งหมดในอเมริกาเหนือ เดวิดจบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก University of Louisville with a Bachelor of Science in Urban Geography and GIS Technology เขาได้รับวุฒินักวิทยาศาสตร์ห้องปฏิบัติการทางคลินิก (CLS) ในปี 2557 และมีเชี่ยวชาญในภาษาสเปนและโปรตุเกส

ปกป้องระบบหล่อเย็นด้วยด้วยน้ำยาหม้อน้ำที่เหมาะสม

การใช้น้ำยาหม้อน้ำที่เหมาะสมในการระบายความร้อนเครื่องยนต์ของคุณ เพื่อป้องกันเครื่องยนต์จากภาวะความร้อนสูง น้ำยาหม้อน้ำของเราช่วยปกป้องยานพาหนะทุกประเภทได้อย่างมีประสิทธิภาพ